เสียงแหบ เสียงแห้ง เสียงหาย
เมื่อเราจะเปล่งเสียง เราจะต้องใช้อวัยวะหลายชนิดตั้งแต่ริมฝีปาก ฟัน ลิ้น ช่องปาก ช่องคอ จนไปถึงกระบังลมในช่องท้อง แต่อวัยวะที่สำคัญที่สุด คือ กล่องเสียง โดยเฉพาะบริเวณสายเสียงที่ร่างกายจะบังคับให้สายเสียงซ้าย และขวา ขยับเข้ามาชิดกันตรงกลาง และดันลมจากหลอดลมให้ผ่านสายเสียงทำให้สายเสียงเกิดการสั่นสะเทือน เกิดเป็น "เสียง" ขึ้น
นอกจากออกเสียงแล้ว สายเสียงยังมีหน้าที่อื่นอีก 2 ประการ คือ เป็นปราการป้องกันการสำลักอาหาร ไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอดลมเวลาเรากลืนอาหาร และยังเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกของอากาศที่หายใจเพื่อไปสู่ปอด
เสียงแหบเกิดจากอะไร
เสียงแหบเกิดจากความผิดปกติที่กล่องเสียง เป็นอาการซึ่งบอกว่าสายเสียงซ้าย และขวาขยับเข้ามาประชิดกันในแนวกลางได้ไม่พอดี ทำให้เสียงที่เปล่งออกมา "แหบ" อาจเป็นเพียงชั่วคราว หรือแหบถาวรไปตลอดชีวิตขึ้นกับโรคที่เกิดขึ้น
สาเหตุที่พบบ่อยของเสียงแหบ
สาเหตุหลักของเสียงแหบมักพบในท่านที่ใช้เสียงมากเกินไป เช่น คุณครูที่ต้องใช้เสียงนานๆ นักร้องที่ต้องร้องเพลงมากๆ นักร้องขาประจำ "คาราโอเกะ" พ่อค้าแม่ค้าที่ใช้เสียงมากๆ นอกจากนี้ การเป็นหวัดแล้วเชื้อหวัดติดต่อลงมาถึงสายเสียงก็จะทำให้เสียงแหบ และมักมีอาการไอ มีเสมหะในลำคอ ร่วมด้วยการสูดหายใจเอาสารเคมีระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ การบริโภคอาหารรสจัด ดื่มสุรา การมีกรดในกระเพาะมาก หรือภาวะกรดไหลย้อน ล้วนแต่ทำให้เสียงแหบได้ทั้งนั้น
ถ้าเสียงแหบนานๆ จะเป็นอย่างไร
ถ้าเสียงแหบ แล้วปล่อยทิ้งไว้มากกว่า 1 สัปดาห์ อาจทำให้กลายเป็นตุ่มเนื้อบริเวณสายเสียง (Vocal Nodule) ได้ ซึ่งมักรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ต้องใช้การส่องกล้องผ่าตัดร่วมไปด้วย จึงไม่ควรปล่อยให้เสียงแหบมากกว่า 7 วัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง
จะดูแลตนเองได้อย่างไร เมื่อเสียงแหบ
อาการเสียงแหบในวันแรกๆ อาจสามารถหายได้เอง โดยการพักเสียง ใช้เสียงเท่าที่จำเป็น ไม่ควรใช้เสียงดัง ไม่ควรกระซิบ ดื่มน้ำให้มากๆ ให้งดอาหารรสจัด และหลีกเลี่ยงอาหารมันๆ
เสียงแหบที่เป็นอันตราย
เสียงแหบที่เกิดจากการระคายเคืองเรื้อรัง โดยเฉพาะสารเคมี ยาเส้น จะทำให้เยื่อบุกล่องเสียงมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ การดื่มแอลกอฮอลล์มากๆ ก็อาจทำให้เป็นมะเร็งของเยื่อบุรอบกล่องเสียงได้ ที่สำคัญแม้คุณจะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่เป็นบุคคลที่คลุกคลีกับคนที่สูบบุหรี่มากๆ เมื่อสูดเอาควันบุหรี่เข้าไปนานๆ ก็ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งที่กล่องเสียงได้มากกว่าคนทั่วไป
คนที่อายุมากกว่า 40 ปี หากมีประวัติข้างต้น เมื่อเกิดเสียงแหบติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เสียงแหบที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่กล่องเสียงอักเสบธรรมดาๆ อาจมีโอกาสเสียงแหบถาวร หรือเป็นโรคร้ายอย่างอื่น ควรรีบไปพบแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อตรวจลำคออย่างละเอียดโดยเร็ว
|